เหตุที่จะฟ้องหย่าตามกฎหมาย มีอะไรบ้าง
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516 เหตุที่จะฟ้องหย่ามี 10 ประการ ดังนี้
(1) สามีหรือภริยาอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องผู้อื่นฉันภริยาหรือสามี เป็นชู้หรือมีชู้ หรือร่วมประเวณีกับผู้อื่นเป็นอาจิณ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
(2) สามีหรือภริยาประพฤติชั่ว ไม่ว่าความประพฤติชั่วนั้นจะเป็นความผิดอาญาหรือไม่ ถ้าเป็นเหตุให้อีกฝ่ายหนึ่ง
(ก) ได้รับความอับอายขายหน้าอย่างร้ายแรง
(ข) ได้รับความดูถูกเกลียดชังเพราะเหตุที่คงเป็นสามีหรือภริยาของฝ่ายที่ประพฤติชั่วอยู่ต่อไป หรือ
(ค) ได้รับความเสียหายหรือเดือดร้อนเกินควร ในเมื่อเอาสภาพฐานะ และความเป็นอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยามาคำนึงประกอบอีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้
(3) สามีหรือภริยาทำร้าย หรือทรมานร่างกายหรือจิตใจ หรือหมิ่นประมาท หรือเหยียดหยามอีกฝ่ายหนึ่งหรือบุพการีของอีกฝ่ายหนึ่ง ทั้งนี้ ถ้าเป็นการร้ายแรง อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้
(4) สามีหรือภริยาจงใจละทิ้งร้างอีกฝ่ายหนึ่งไปเกิน 1 ปี อีกฝ่ายหนึ่ง นั้นฟ้องหย่าได้
(4/1) สามีหรือภริยาต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก และได้ถูกจำคุกเกิน 1 ปีในความผิดที่อีกฝ่ายหนึ่งมิได้มีส่วนก่อให้เกิดการกระทำความผิด หรือยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิดนั้นด้วย และการเป็นสามีภริยากันต่อไปจะเป็นเหตุให้อีกฝ่ายหนึ่งได้รับความเสียหายหรือเดือดร้อนเกิน ควร อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้
(4/2) สามีและภริยาสมัครใจแยกกันอยู่เพราะเหตุที่ไม่อาจอยู่ร่วมกัน ฉันสามีภริยาได้โดยปกติสุขตลอดมาเกิน 3 ปี หรือแยกกันอยู่ตามคำสั่งของศาลเป็นเวลาเกิน 3 ปี ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
(5) สามีหรือภริยาถูกศาลสั่งให้เป็นคนสาบสูญ หรือไปจากภูมิลำเนา หรือถิ่นที่อยู่เป็นเวลาเกิน 3 ปี โดยไม่มีใครทราบแน่ว่าเป็นตายร้ายดีอย่าง ไร อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
(6) สามีหรือภริยาไม่ให้ความช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูอีกฝ่ายหนึ่งตามสมควร หรือทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการที่เป็นสามีหรือภริยากันอย่างร้ายแรง ทั้งนี้ ถ้าการกระทำนั้นถึงขนาดที่อีกฝ่ายหนึ่งเดือดร้อนเกินควรในเมื่อเอาสภาพ ฐานะ และความเป็นอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยามาคำนึงประกอบ อีกฝ่าย หนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้
(7) สามีหรือภริยาวิกลจริตตลอดมาเกิน 3 ปี และความวิกลจริตนั้นมี ลักษณะยากจะหายได้ กับทั้งความวิกลจริตถึงขนาดที่จะทนอยู่ร่วมกัน ฉันสามีภริยาต่อไปไม่ได้ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
(8) สามีหรือภริยาผิดทัณฑ์บนที่ทำให้ไว้เป็นหนังสือในเรื่องความประพฤติอีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
(9) สามีหรือภริยาเป็นโรคติดต่ออย่างร้ายแรงอันอาจเป็นภัยแก่อีกฝ่ายหนึ่งและโรคมีลักษณะเรื้อรัง ไม่มีทางที่จะหายได้ อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้
(10) สามีหรือภริยามีสภาพแห่งกายทำให้สามีหรือภริยานั้น ไม่อาจร่วมประเวณีได้ตลอดกาล อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
เมื่อพิจารณาจากข้อเท็จจริงแล้วเข้าเหตุแห่งการหย่าตามกฎหมาย คู่สมรสฝ่ายที่ต้องการฟ้องหย่า ติดต่อปรึกษาทนายความเล่าข้อเท็จจริงเหตุที่จะฟ้องหย่าคู่สมรสอีกฝ่าย ได้ทางโทรศัพท์มือถือ หรือส่งข้อความทางแอปพลิเคชันไลน์ หรือทางเพจเฟซบุ๊กทางสำนักงานทนาย หรือทางอีเมลสำนักงาน เมื่อมีเหตุสามารถฟ้องหย่าได้ สามารถให้ทนายดำเนินการร่างคำฟ้องหย่าและยื่นฟ้องต่อศาลเยาวชนและครอบครัว ซึ่งการฟ้องหย่านั้น หากมีบุตรด้วยกัน ทรัพย์สินสินสมรส หนี้สินร่วมกัน สามารถที่จะฟ้องแบ่งสินสมรส ฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร ค่าเลี้ยงชีพ เพิกถอนอำนาจปกครองบุตรอีกฝ่ายได้ พร้อมกับฟ้องหย่าไปด้วยได้
เรียกค่าทดแทนหรือค่าเสียหาย เหตุมีชู้
ฟ้องอาศัยเหตุอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องผู้อื่นฉันภริยาหรือสามี เป็นชู้หรือมีชู้ หรือร่วมประเวณีกับผู้อื่นเป็นอาจิณ เมื่อศาลพิพากษาให้หย่ากัน ตาม มาตรา 1516(1)
สินสมรส มีอะไรบ้าง
สินสมรส ได้แก่ทรัพย์สิน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1474
(1) ที่คู่สมรสได้มาระหว่างสมรส เช่น เงินเดือน โบนัส เป็นต้น
(2) ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาระหว่างสมรสโดยพินัยกรรมหรือโดย การให้เป็นหนังสือเมื่อพินัยกรรมหรือหนังสือยกให้ระบุว่าเป็นสินสมรส
(3) ที่เป็นดอกผลหรือกำไรสุทธิของสินส่วนตัว เช่น ค่าเช่า ดอกเบี้ย เป็นต้น
ถ้ากรณีเป็นที่สงสัยว่าทรัพย์สินอย่างหนึ่งเป็นสินสมรสหรือมิใช่ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นสินสม
สินส่วนตัว มีอะไรบ้าง
สินส่วนตัว ได้แก่ทรัพย์สิน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1471
(1) ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีอยู่ก่อนสมรส เช่น บ้าน ที่ดิน เป็นต้น
(2) ที่เป็นเครื่องใช้สอยส่วนตัว เครื่องแต่งกาย หรือเครื่องประดับ กายตามควรแก่ฐานะ หรือเครื่องมือเครื่องใช้ที่จำเป็นในการประกอบอาชีพ หรือวิชาชีพของคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง
(3) ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาระหว่างสมรสโดยการรับมรดก หรือโดยการให้โดยเสน่หา
(4) ที่เป็นของหมั้นของฝ่ายหญิง
เรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร
บิดามารดามีหน้าที่อุปการะเลี้ยงดูบุตร ค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรเรียกได้แม้จดทะเบียนหย่ากันแล้ว หรือเรียกได้แม้สามีภริยาอยู่กินกันฉันสามีภริยาโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรสกันโดยฟ้องขอให้รับเด็กเป็นบุตร และเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรไปในคดีเดียวกันได้ ค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร ประกอบด้วย ค่าอาหาร ค่าเสื้อผ้า ค่าศึกษาเล่าเรียน ค่ากิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้หรือเพิ่มศักยภาพการเรียนรู้เด็ก ค่าที่อยู่อาศัย ค่ารักษาพยาบาล ค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน เป็นต้น
หลักเกณฑ์การกำหนดจำนวนค่าอุปาระเลี้ยงดูบุตร
1. ศาลจะพิจารณาจากความสามารถและฐานะของผู้ให้และผู้รับ ฝ่ายผู้ฟ้องต้องแสดงหลักฐานให้ศาลเห็นว่า ผู้ถูกฟ้องมีฐานะมั่นคง อาชีพการงาน การศึกษา รายได้ต่อเดือนประมาณเท่าไหร่ หรือมีรายได้อื่นๆอีกหรือไม่
2. ผู้ฟ้องต้องการเรียกร้องจำนวนค่าอุปการะเลี้ยงดูเดือนละเท่าใด บุตรมีค่าใช้จ่ายอย่างไรบ้าง
3. ศาลจะพิจารณาจากพฤติการณ์แห่งกรณี โดยไม่จำเป็นต้องรับผิดเท่ากันเสมอไป
4. สามารถขอแก้ไข ลด เพิ่ม ในภายหลังได้ โดยคำสั่งศาล หากฐานะและรายได้เปลี่ยนแปลงไป
อำนาจปกครองบุตร
ถ้าตกลงกันไม่ได้ศาลจะเป็นผู้ชี้ขาด โดยคำนึงถึงประโยชน์และความผาสุกของเด็กเป็นสำคัญ และกฎหมายตาม มาตรา 1582 ให้อำนาจศาลที่จะถอนอำนาจปกครองของคู่สมรส หากมีเหตุที่จะถอนอำนาจปกครองได้
เรียกค่าเลี้ยงชีพ
เป็นเงินหรือประโยชน์อย่างอื่นที่คู่สมรสฝ่ายหนึ่งต้องรับผิดชอบเมื่อมีการหย่าโดยคำพิพากษาของศาล เมื่อการฟ้องหย่าที่เกิดจากความผิดของคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง หากการหย่าจะทำให้อีกฝ่ายหนึ่งยากจนลง เพราะไม่มีรายได้พอจากทรัพย์สิน หรือจากการงานตามที่เคยทำอยู่ระหว่างสมรสคู่สมรสที่เป็นฝ่ายที่เป็นฝ่ายผิดในคดีหย่าจะต้องรับผิดจ่ายค่าเลี้ยงชีพด้วย ซึ่งค่าเลี้ยงชีพอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงจำนวนภายหลังได้แล้วแต่พฤติการณ์ ทั้งนี้ค่าเลี้ยงชีพมีลักษณะเฉพาะตัว สิทธิจะได้รับค่าเลี้ยงชีพจะสละ หรือโอนมิได้ และไม่อยู่ในข่ายแห่งการบังคับคดี
เอกสารพยานหลักฐานที่จะต้องเตรียมให้ทนาย
เอกสารประกอบการยื่นคำฟ้อง
1. ใบสำคัญการสมรส หรือ ทะเบียนสมรส
2 สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนผู้ฟ้องคดี และจำเลยหรือผู้ถูกฟ้อง
3. สำเนาทะเบียนบ้านผู้ฟ้องคดี และจำเลยหรือผู้ถูกฟ้อง
4.ใบสูติบัตรของบุตรทุกคน ( กรณีมีบุตรด้วยกัน )
5.สำเนาบัตรประชาชนของบุตรทุกคน
6.สำเนาทะเบียนบ้านของบุตรทุกคน
7.ใบสำคัญการเปลี่ยนชื่อ สกุล ( กรณีมีการเปลี่ยนชื่อ สกุล )
8.รูปถ่ายการอยู่กินกัน
9.หลักฐานเกี่ยวกับเหตุที่จะใช้ฟ้องหย่า อาทิ ข้อความแชทผ่านทางแอปพลิเคชัน เฟซบุ๊ก ไลน์ คลิป ภาพถ่ายการคบชู้ เป็นต้น
10.หลักฐานหรือตารางรายการสินสมรส เช่น โฉนดที่ดินบ้าน คอนโด ใบคู่มือการจดทะเบียนหรือทะเบียนรถยนต์ รถจักรยานยนต์ สมุดบัญชีเงินฝากธนาคาร บัญชีหุ้น กองทุน เป็นต้น
11.หลักฐานที่เกี่ยวกับหนี้สินในระหว่างสมรส
12.หลักฐานค่าเลี้ยงชีพ
13.หลักฐานค่าเลี้ยงดูบุตร ( กรณีฟ้องเรื่องอำนาจปกครองบุตร ค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร ) เช่น ตารางค่าเลี้ยงดู ใบเสร็จรับเงินค่าเล่าเรียน ค่ารักษาพยาบาล ค่าประกันชีวิต กิจกรรมเสริมการเรียนรู้ต่าง ๆ
14. เอกสารแสดงสถานะบิดามารดา เช่น ใบปริญญาบัตร หนังสือรับรองการทำงาน รายได้ รายการทรัพย์สิน เป็นต้น