เป็นสามีภรรยาแต่ไม่จดทะเบียนสมรสกัน เลิกกันแล้วทรัพย์สินเป็นของใคร ?

เป็นสามีภรรยา แต่ไม่จดทะเบียนสมรสกัน เมื่อเลิกกันแล้วทรัพย์สินเป็นของใคร

ทรัพย์สินที่สามีและภรรยาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ได้ทำมาหาได้ร่วมกัน ในระหว่างที่อยู่กินด้วยกันนั้น ไม่ใช่สินสมรส แต่ถือว่าเป็น กรรมสิทธิ์รวมของทั้งสองคน  เน้น!!! ต้องเป็นกรณีที่ทั้งสองมีส่วนร่วมในการทำมาหาได้ เช่น ทรัพย์สินที่ซื้อมาด้วยเงินที่ช่วยกันทำมาหาได้ จึงจะเป็นกรรมสิทธิ์รวม แต่ถ้าต่างฝ่ายต่างหาด้วยตัวเอง ไม่ใช่กรรมสิทธิ์รวม

***ฎ.2102/2551 จำเลยกับผู้ตายอยู่กินฉันสามีภริยากันโดยไม่จดทะเบียนสมรส จึงไม่ต้องพิจารณาว่าทรัพย์พิพาทเป็นสินสมรสหรือไม่ คงต้องพิจารณาเฉพาะเรื่องกรรมสิทธิ์รวมว่าเป็นทรัพย์สินที่ซื้อหามาด้วยเงินที่ร่วมกันทำมาหาได้หรือไม่ เมื่อที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่ผู้ตายได้รับมาโดยการรับมรดกและโดยการให้โดยเสน่หา ย่อมไม่ใช่ทรัพย์ที่จำเลยเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย ที่ดินพิพาทจึงเป็นทรัพย์สินของผู้ตายเพียงผู้เดียว

พินัยกรรมที่ผู้ตายทำขึ้นโดยใช้พิมพ์ดีดทั้งฉบับ ย่อมไม่ใช่พินัยกรรมแบบเขียนเองทั้งฉบับตาม ป.พ.พ. มาตรา 1657 คงเป็นแต่พินัยกรรมแบบธรรมดาตาม ป.พ.พ. มาตรา 1656 ที่ต้องมีพยานรู้เห็นซึ่งมาตรา 1656 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่าผู้ทำพินัยกรรมต้องลงลายมือชื่อไว้ต่อหน้าพยานอย่างน้อยสองคนพร้อมกัน การที่พยานในพินัยกรรมพิพาทลงลายมือชื่อเป็นพยานภายหลังจึงขัดต่อบทบัญญัติดังกล่าวพินัยกรรมพิพาทย่อมตกเป็นโมฆะตามมาตรา 1705

***ฎ.3389/2524 ทรัพย์สินที่ผู้ร้องกับผู้ตายทำมาหาได้ในระหว่างที่อยู่กินด้วยกันฉันสามีภรรยา เป็นของผู้ร้องกับผู้ตายร่วมกันผู้ร้องจึงมีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดกของผู้ตาย และมีสิทธิร้องขอให้ตั้ง อ. เป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายด้วย ไม่จำต้องวินิจฉัยว่าผู้ร้องจะเป็นภรรยาโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

ศาลจะตั้งใครเป็นผู้จัดการมรดกนั้นจะต้องคำนึงถึงประโยชน์แก่กองมรดกและเจตนาของเจ้ามรดกด้วย เมื่อผู้ตายได้ทำหนังสือตั้ง อ. เป็นผู้จัดการมรดกไว้ ส่วนผู้คัดค้านเป็นเพียงพี่สาวร่วมมารดากับผู้ตาย เคยมีเรื่องทะเลาะกันกับผู้ตายจนไม่พูดจากัน จึงควรตั้ง อ. เป็นผู้จัดการมรดก

error: Content is protected !!
ข้ามไปยังทูลบาร์