คดีจัดการมรดก

ผู้มีสิทธิยื่นคำร้องขอตั้งผู้จัดการมรดก ให้ศาลมีคำสั่งตั้งเป็นผู้จัดการมรดก

  1. ทายาท (ทายาทโดยธรรมหรือผู้รับพินัยกรรม)
  2. ผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดก เช่น สามีหรือภริยาที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส เป็นต้น
  3. พนักงานอัยการ

ทายาทที่มีสิทธิรับมรดก

ทายาท มี 2 ประเภท คือ

  1. ผู้รับพินัยกรรม คือ ทายาทที่มีสิทธิรับมรดกตามที่ผู้ตายกำหนดไว้ในพินัยกรรม
  2. ทายาทโดยธรรม คือ ทายาทที่มีสิทธิรับมรดกตามกฎหมาย มี 6 ลำดับ แต่ละลำดับมีสิทธิรับมรดกก่อนหลัง ดังต่อไปนี้
    • ผู้สืบสันดาน (รวมทั้งบุตรที่บิดาได้รับรองโดยพฤติการณ์)
    • บิดามารดา
    • พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน
    • พี่น้องร่วมบิดาหรือมารดาเดียวกัน
    • ปู่ ย่า ตา ยาย
    • ลุง ป้า น้า อา

คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่ ก็เป็นทายาทโดยธรรมของผู้ตายด้วย สำหรับสามีภริยา ต้องจดทะเบียนสมรสเท่านั้น

คุณสมบัติของผู้จัดการมรดก

  1. เป็นผู้บรรลุนิติภาวะ อายุ 20 ปีบริบูรณ์
  2. ไม่เป็นบุคคลวิกลจริต
  3. ไม่เป็นบุคคลไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ
  4. ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย

ผู้จัดการมรดกมีหน้าที่ในการรวบรวมทรัพย์มรดกเพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทโดยธรรมหรือผู้รับพินัยกรรม ดำเนินการเกี่ยวกับทางบัญชี จัดทำบัญชีทรัพย์มรดกและทำรายการแสดงบัญชีการจัดแบ่งมรดก ตลอดจนชำระหนี้ของเจ้ามรดกแก่เจ้าหนี้ ซึ่งหน้าที่ทั้งหลายนี้ผู้จัดการมรดกต้องกระทำไปให้สมกับเจตนารมณ์ของเจ้ามรดก โดยต้องจัดการไปในทางที่เป็นประโยชน์แก่มรดก จะทำนิติกรรมใดๆที่เป็นปรปักษ์ต่อกองมรดกไม่ได้ หากละเลยหรือกระทำไปโดยไม่สุจริตอาจถูกถอดถอนจากการเป็นผู้จัดการมรดกได้ เช่น ปิดบังมรดกต่อทายาท หรือเพิกเฉยไม่แบ่งมรดก ทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกหรือผู้มีส่วนได้เสียจะร้องขอให้ศาลมีคำสั่งถอนผู้จัดการมรดกก็ได้

ความสิ้นสุดของการเป็นผู้จัดการมรดก

  1. ตาย
  2. ลาออก ซึ่งต้องได้รับอนุญาตจากศาล แต่หากมีความเสียหายเกิดขึ้นในระหว่างทำหน้าที่ ก็ต้องรับผิดชอบ
  3. ศาลมีคำสั่งถอน
  4. ตกเป็นบุคคลผู้มีคุณสมบัติต้องห้าม เช่น บุคคลล้มละลาย บุคคลวิกลจริต บุคคลไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ เป็นต้น
  5. การจัดการมรดกสิ้นสุดลง และเป็นการเริ่มนับอายุความจัดการมรดก 5 ปี กรณีทายาทได้รับความเสียหาย

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่เกี่ยวข้อง

มาตรา 1711 ผู้จัดการมรดกนั้นรวมตลอดทั้งบุคคลที่ตั้งขึ้นโดยพินัยกรรมหรือโดยคำสั่งศาล

มาตรา 1712 ผู้จัดการมรดกโดยพินัยกรรมอาจตั้งขึ้นได้

(1) โดยผู้ทำพินัยกรรมเอง

(2) โดยบุคคลซึ่งระบุไว้ในพินัยกรรม ให้เป็นผู้ตั้ง

มาตรา 1713 ทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการจะร้องขอต่อศาล ขอให้ตั้งผู้จัดการมรดกก็ได้ ในกรณีดั่งต่อไปนี้

(2) เมื่อผู้จัดการมรดกหรือทายาทไม่สามารถ หรือไม่เต็มใจที่จะจัดการหรือมีเหตุขัดข้องในการจัดการ หรือในการแบ่งปันมรดก

มาตรา 1715 ผู้ทำพินัยกรรมจะตั้งบุคคลคนเดียวหรือหลายคนให้เป็นผู้จัดการมรดกก็ได้

เว้นแต่จะมีข้อกำหนดไว้ในพินัยกรรมเป็นอย่างอื่น ถ้ามีผู้จัดการมรดกหลายคน แต่ผู้จัดการเหล่านั้นบางคนไม่สามารถ หรือไม่เต็มใจที่จะจัดการ และยังมีผู้จัดการมรดกเหลืออยู่แต่คนเดียว ผู้นั้นมีสิทธิที่จะจัดการมรดกได้โดยลำพัง แต่ถ้ามีผู้จัดการมรดกเหลืออยู่หลายคน ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า ผู้จัดการเหล่านั้นแต่ละคนจะจัดการโดยลำพังไม่ได้

มาตรา 1716 หน้าที่ผู้จัดการมรดกที่ศาลตั้ง ให้เริ่มนับแต่วันที่ได้ฟังหรือถือว่าได้ฟังคำสั่งศาลแล้ว

มาตรา 1718 บุคคลต่อไปนี้จะเป็นผู้จัดการมรดกไม่ได้

(1) ผู้ซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะ

(2) บุคคลวิกลจริต หรือ บุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นผู้เสมือนไร้ความสามารถ

(3) บุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นคนล้มละลาย

มาตรา 1726 ถ้าผู้จัดการมรดกมีหลายคน การทำการตามหน้าที่ของผู้จัดการมรดกนั้นต้องถือเอาเสียงข้างมาก เว้นแต่จะมีข้อกำหนดพินัยกรรมเป็นอย่างอื่น ถ้าเสียงเท่ากัน เมื่อผู้มีส่วนได้เสียร้องขอ ก็ให้ศาลเป็นผู้ชี้ขาด

มาตรา 1731 ถ้าผู้จัดการมรดกมิได้จัดทำบัญชีภายในเวลาและตามแบบที่กำหนดไว้ หรือถ้าบัญชีนั้นไม่เป็นที่พอใจแก่ศาล เพราะความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง หรือการทุจริต หรือความไม่สามารถอันเห็นประจักษ์ของผู้จัดการมรดก ศาลจะถอนผู้จัดการมรดกเสียก็ได้

มาตรา 1733 วรรค 2 คดีเกี่ยวกับการจัดการมรดกนั้น มิให้ทายาทฟ้องเกินกว่า 5 ปีนับแต่การจัดการมรดกสิ้นสุดลง

ประมวลกฎหมายอาญา ที่เกี่ยวข้อง

กรณีผู้จัดการมรดก ยักยอกทรัพย์มรดก

มาตรา 354 ถ้าการกระทำความผิดตาม มาตรา 352 หรือ มาตรา 353 ได้กระทำในฐานที่ผู้กระทำความผิดเป็นผู้จัดการทรัพย์สินของผู้อื่น ตามคำสั่งของศาล หรือตามพินัยกรรม หรือในฐานเป็นผู้มีอาชีพ หรือธุรกิจ อันย่อมเป็นที่ไว้วางใจของประชาชน ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 356 ความผิดในหมวดนี้เป็นความผิดอันยอมความได้

เอกสารที่ต้องเตรียมให้ทนายความมีดังนี้

  1. ใบมรณบัตรของเจ้ามรดก (ผู้ตาย)
  2. ทะเบียนบ้านของเจ้ามรดก ( ผู้ตาย )
  3. ใบสำคัญการสมรสของเจ้ามรดก (ผู้ตาย) หรือทะเบียนหย่า (ถ้ามี)
  4. เอกสารใบเปลี่ยนชื่อ-นามสกุล ( ในกรณีที่ผู้ร้องมีการเปลี่ยนชื่อ-นามสกุล หรือผู้ตายได้เปลี่ยนชื่อ-นามสกุล )
  5. สูติบัตรของผู้ร้อง ( ถ้ามี )
  6. บัตรประชาชนของผู้ร้อง
  7. ใบมรณะบัตรหรือหนังสือรับรองการตายของทายาทที่เสียชีวิตไปแล้ว ( ถ้ามี )
  8. พินัยกรรมที่เจ้ามรดกทำขึ้น ( ถ้ามี )
  9. เอกสารหลักฐานเกี่ยวกับทรัพย์มรดกของเจ้ามรดก เช่น โฉนดที่ดิน เล่มทะเบียนรถยนต์ อาวุธปืน บัญชีธนาคาร เป็นต้น
  10. บัญชีเครือญาติ
  11. หนังสือให้ความของยินยอมทายาท
  12. บัตรประชาชนและทะเบียนบ้านของทายาททุกคนที่ให้ความยินยอม
error: Content is protected !!
ข้ามไปยังทูลบาร์