บิดาฟ้องจดทะเบียนรับรองบุตร สามารถขอถอนอำนาจปกครองบุตรมารดาในคดีเดียวกันได้

บิดาฟ้องจดทะเบียนรับรองบุตร สามารถขอถอนอำนาจปกครองบุตรมารดาได้

เหตุในการเพิกถอนหรือถอนอำนาจปกครองบุตรอีกฝ่าย

  1. ผู้ใช้อำนาจปกครองเป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถ
  2. ใช้อำนาจปกครองเกี่ยวแก่ตัวผู้เยาว์โดยมิชอบ ทำให้เกิดความเสียหายแก่บุตรผู้เยาว์ เช่น ดื่มสุราเป็นอาจิณ เล่นการพนัน เสพยาเสพติด สั่งสอนบุตรให้ ดื่มสุรา สูบบุหรี่ ลักขโมย ละทิ้ง ไม่เลี้ยงดูบุตร ไม่เอาใจใส่ ปล่อยปละละเลยให้บุตรประพฤติชั่ว ลงโทษบุตรอย่างทารุณ เฆี่ยนตีรุนแรง เป็นต้น
  3. ผู้ใช้อำนาจปกครองประพฤติชั่วร้าย เช่น กระทำทางเพศต่อบุตร ถูกจำคุกไม่สามารถอุปการะเลี้ยงดูบุตรได้ บังคับให้บุตรขอทาน บังคับให้บุตรเป็นโสเภณี เป็นต้น
  4. ผู้ใช้อำนาจปกครองล้มละะลาย
  5. ผู้ใช้อำนาจปกครองจัดการทรัพย์สินของบุตรผู้เยาว์ไปในทางเสียหายหรือผิดจนอาจเป็นภัยแก่ผู้เยาว์หรือทรัพย์สินของผู้เยาว์ หรือนำทรัพย์สินของบุตรผู้เยาว์มาใช้ส่วนตัวจนเกินความจำเป็น

มาตรา 1582  ถ้าผู้ใช้อำนาจปกครองเป็นคนไร้ความสามารถหรือเสมือนไร้ความสามารถโดยคำสั่งของศาลก็ดี ใช้อำนาจปกครองเกี่ยวแก่ตัวผู้เยาว์โดยมิชอบก็ดี ประพฤติชั่วร้ายก็ดี ในกรณีเหล่านี้ศาลจะสั่งเอง หรือจะสั่งเมื่อญาติของผู้เยาว์หรืออัยการร้องขอให้ถอนอำนาจปกครองเสียบางส่วนหรือทั้งหมดก็ได้

ถ้าผู้ใช้อำนาจปกครองล้มละลายก็ดี หรือจัดการทรัพย์สินของผู้เยาว์ในทางที่ผิดจนอาจเป็นภัยก็ดี ศาลจะสั่งตามวิธีในวรรคหนึ่งให้ถอนอำนาจจัดการทรัพย์สินเสียก็ได้

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4323/2540

ในการถอนอำนาจปกครองนั้น กฎหมายให้อำนาจศาลถอนเสียได้โดยลำพังโดยไม่ต้องให้ผู้ใดร้องขอก็ได้ หากมีเหตุตามบทบัญญัติแห่ง ป.พ.พ.มาตรา 1582 วรรคหนึ่ง ดังนั้น แม้ในขณะผู้ร้องยื่นคำร้องผู้ร้องยังมิได้เป็นบิดาโดยชอบด้วยกฎหมายของผู้เยาว์ก็ตาม แต่เมื่อความปรากฏต่อศาลว่ามารดาของผู้เยาว์ย้ายไปอยู่ที่อื่นและสมรสใหม่ตั้งแต่ผู้เยาว์อายุได้เพียงปีเศษและไม่เคยกลับมาดูแลผู้เยาว์อีกเลย กรณีจึงเป็นการที่มารดาผู้เยาว์ใช้อำนาจปกครองแก่ตัวผู้เยาว์โดยมิชอบ ศาลจึงมีอำนาจพิพากษาถอนอำนาจปกครองจากมารดาผู้เยาว์ และเมื่อปรากฏว่าผู้เยาว์อยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของผู้ร้องมาโดยตลอด การให้ผู้ร้องเป็นผู้ใช้อำนาจปกครองผู้เยาว์ย่อมเหมาะสมกว่า

error: Content is protected !!
ข้ามไปยังทูลบาร์