ฟ้องหย่าฝ่ายเดียว อีกฝ่ายไม่ยอมหย่า สามารถฟ้องหย่าได้

ฟ้องหย่าฝ่ายเดียว อีกฝ่ายไม่ยอมหย่า สามารถฟ้องหย่าได้

การหย่าแบ่งออกได้เป็น 2 รูปแบบ กล่าวคือ
1. การหย่าโดยความยินยอมหรือทั้งสองฝ่ายสมัครใจจดทะเบียนหย่ากัน โดยไปจดทะเบียนหย่า ณ ที่ว่าการอำเภอ หรือสำนักงานเขต ซึ่งจะจดทะเบียนหย่าที่ใดก็ได้ไม่ได้จำเป็นที่จะต้องเป็นสำนักงานเขตหรือที่ว่าการอำเภอที่ทั้งคู่จดทะเบียนสมรส โดยคู่สามีภรรยาต้องไปพร้อมกัน ณ สถานที่ที่จดทะเบียนหย่า
2. การหย่าโดยการฟ้องหย่า เมื่ออีกฝ่ายไม่ยินยอมจดทะเบียนหย่า คู่สมรสอีกฝ่าย สามารถฟ้องหย่า โดยให้ทนายดำเนินการทำเป็นคำฟ้องหย่ายื่นฟ้องต่อศาลเยาวชนและครอบครัว เมื่อศาลมีคำพิพากษาให้หย่าขาดจากกัน ท่านสามารถนำคำพิพากษาของศาล ไปจดทะเบียนการหย่าแทนการแสดงเจตนาของคู่กรณีอีกฝ่าย การฟ้องหย่าฝ่ายเดียว ซึ่งต้องมีเหตุแห่งการฟ้องหย่าตามกฎหมาย ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ตามมาตรา 1516 จึงจะสามารถฟ้องหย่าฝ่ายเดียวได้

เหตุที่จะสามารถฟ้องหย่าฝ่ายเดียวได้ มีดังนี้
เหตุแห่งการฟ้องหย่า มี 10 ประการ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516  
มาตรา 1516 เหตุฟ้องหย่ามีดังต่อไปนี้
        (1) สามีหรือภริยาอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องผู้อื่นฉันภริยาหรือสามี เป็นชู้หรือมีชู้ หรือร่วมประเวณีกับผู้อื่นเป็นอาจิณ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
        (2) สามีหรือภริยาประพฤติชั่ว ไม่ว่าความประพฤติชั่วนั้นจะเป็นความผิดอาญาหรือไม่ ถ้าเป็นเหตุให้อีกฝ่ายหนึ่ง
        (ก) ได้รับความอับอายขายหน้าอย่างร้ายแรง
        (ข) ได้รับความดูถูกเกลียดชังเพราะเหตุที่คงเป็นสามีหรือภริยาของฝ่ายที่ประพฤติชั่วอยู่ต่อไป หรือ
        (ค) ได้รับความเสียหายหรือเดือดร้อนเกินควร ในเมื่อเอาสภาพ ฐานะและความเป็นอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยามาคำนึงประกอบ
        อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้
        (3) สามีหรือภริยาทำร้าย หรือทรมานร่างกายหรือจิตใจ หรือหมิ่นประมาทหรือเหยียดหยามอีกฝ่ายหนึ่งหรือบุพการีของอีกฝ่ายหนึ่ง  ทั้งนี้ ถ้าเป็นการร้ายแรง อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้
        (4) สามีหรือภริยาจงใจละทิ้งร้างอีกฝ่ายหนึ่งไปเกินหนึ่งปี อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้
        (4/1) สามีหรือภริยาต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก และได้ถูกจำคุกเกินหนึ่งปีในความผิดที่อีกฝ่ายหนึ่งมิได้มีส่วนก่อให้เกิดการกระทำความผิดหรือยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิดนั้นด้วย และการเป็นสามีภริยากันต่อไปจะเป็นเหตุให้อีกฝ่ายหนึ่งได้รับความเสียหายหรือเดือนร้อนเกินควร อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้
        (4/2) สามีและภริยาสมัครใจแยกกันอยู่เพราะเหตุที่ไม่อาจอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาได้โดยปกติสุขตลอดมาเกินสามปี หรือแยกกันอยู่ตามคำสั่งของศาลเป็นเวลาเกินสามปี ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
        (5) สามีหรือภริยาถูกศาลสั่งให้เป็นคนสาบสูญ หรือไปจากภูมิลำเนาหรือถิ่นที่อยู่เป็นเวลาเกินสามปีโดยไม่มีใครทราบแน่ว่าเป็นตายร้ายดีอย่างไร อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
        (6) สามีหรือภริยาไม่ให้ความช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูอีกฝ่ายหนึ่งตามสมควรหรือทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการที่เป็นสามีหรือภริยากันอย่างร้ายแรง  ทั้งนี้ ถ้าการกระทำนั้นถึงขนาดที่อีกฝ่ายหนึ่งเดือดร้อนเกินควรในเมื่อเอาสภาพ ฐานะและความเป็นอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยามาคำนึงประกอบ อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้
        (7) สามีหรือภริยาวิกลจริตตลอดมาเกินสามปี และความวิกลจริตนั้นมีลักษณะยากจะหายได้ กับทั้งความวิกลจริตถึงขนาดที่จะทนอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยาต่อไปไม่ได้ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
        (8) สามีหรือภริยาผิดทัณฑ์บนที่ทำให้ไว้เป็นหนังสือในเรื่องความประพฤติ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
        (9) สามีหรือภริยาเป็นโรคติดต่ออย่างร้ายแรงอันอาจเป็นภัยแก่อีกฝ่ายหนึ่งและโรคมีลักษณะเรื้อรังไม่มีทางที่จะหายได้ อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้
        (10) สามีหรือภริยามีสภาพแห่งกายทำให้สามีหรือภริยานั้นไม่อาจร่วมประเวณีได้ตลอดกาล อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้

จากเหตุฟ้องหย่าที่กล่าวมานั้น จะต้องมาพิจารณาข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นว่าเข้าเหตุแห่งการฟ้องหย่าตามเหตุ 1 ใน 10 ประการนี้ หรือไม่ประการใด เมื่อมีเหตุแล้วจึงจะสามารถไปดำเนินการฟ้องขอหย่าฝ่ายเดียวต่อศาลได้ เมื่อศาลมีคำพิพากษาและคดีถึงที่สุด บังคับให้จำเลยจดทะเบียนการหย่า แต่หากจำเลยไม่กระทำตามคำพิพากษาศาล คู่กรณีฝ่ายที่ชนะคดีสามารถนำคำพิพากษาของศาลและหนังสือรับรองคดีถึงที่สุด ไปดำเนินการจดทะเบียนการหย่าฝ่ายเดียวแทนการแสดงเจตนาของคู่กรณีอีกฝ่าย ทำให้มีการหย่าโดยคำพิพากษาเกิดขึ้น และมีผลทำให้การสมรสสิ้นสุดลงนับแต่มีการจดทะเบียนหย่า

อีกฝ่ายไม่ยอมมาศาล หรือยื่นคำให้การต่อสู้คดี ศาลมีอำนาจตัดสินให้จดทะเบียนหย่าได้
เมื่อมีการยื่นฟ้องหย่าต่อศาล คู่กรณีอีกฝ่ายได้รับหมายเรียกหรือหมายศาลแล้วไม่มาศาล เราสามารถดำเนินคดีไปฝ่ายเดียวได้
ซึ่งถือว่าคู่กรณีอีกฝ่ายทราบว่าถูกฟ้องแล้ว แต่เพิกเฉย ศาลจะดำเนินกระบวนพิจารณาคดีให้อีกฝ่าย (โจทก์) สืบพยานไปฝ่ายเดียว และศาลมีอำนาจพิจารณาตัดสินให้หย่าขาดจากกันได้

เอกสารที่จะต้องเตรียมสำหรับการฟ้องหย่าฝ่ายเดียว ให้ทนาย มีดังนี้
1. ใบสำคัญการสมรส หรือ ทะเบียนสมรส
2. สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของตนเอง และของจำเลย ( ของจำเลยถ้าไม่มีไม่เป็นไร )
3. สำเนาทะเบียนบ้านของตนเอง และของจำเลย หรือทะเบียนบ้านที่พักอาศัยอยู่กินฉันสามีภริยา
4. ใบสูติบัตรของบุตรทุกคน ( กรณีมีบุตรด้วยกัน )
5. สำเนาบัตรประชาชนของบุตรทุกคน
6. สำเนาทะเบียนบ้านของบุตรทุกคน
7. ใบสำคัญการเปลี่ยนชื่อ สกุล ( กรณีมีการเปลี่ยนชื่อ สกุล )
8. รูปถ่ายการอยู่กินกัน
9. หลักฐานเกี่ยวกับเหตุที่จะใช้ฟ้องหย่า อาทิ ข้อความแชทผ่านทางแอปพลิเคชัน เฟซบุ๊ก ไลน์ คลิป ภาพถ่ายการคบชู้ เป็นต้น
10. หลักฐานหรือตารางรายการสินสมรส เช่น โฉนดที่ดินบ้าน คอนโด ใบคู่มือการจดทะเบียนหรือทะเบียนรถยนต์ รถจักรยานยนต์ สมุดบัญชีเงินฝากธนาคาร บัญชีหุ้น กองทุน เป็นต้น
11. หลักฐานที่เกี่ยวกับหนี้สินในระหว่างสมรส
12. หลักฐานค่าเลี้ยงชีพ
13. หลักฐานค่าเลี้ยงดูบุตร ( กรณีฟ้องเรื่องอำนาจปกครองบุตร ค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร )

หลักกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
มาตรา 197 เมื่อจำเลยได้รับหมายเรียกให้ยื่นคำให้การแล้ว จำเลยมิได้ยื่นคำให้การภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ตามกฎหมายหรือตามคำสั่งศาล ให้ถือว่าจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ

มาตรา 198 ถ้าจำเลยขาดนัดยื่นคำให้การ ให้โจทก์มีคำขอต่อศาลภายในสิบห้าวันนับแต่ระยะเวลาที่กำหนดให้จำเลยยื่นคำให้การได้สิ้นสุดลง เพื่อให้ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดให้ตนเป็นฝ่ายชนะคดีโดยขาดนัด
 

error: Content is protected !!
ข้ามไปยังทูลบาร์