จดทะเบียนสมรสเท่าเทียมต้องทำอย่างไร

จดทะเบียนสมรสเท่าเทียมต้องทำอย่างไร

ผู้หญิงกับผู้หญิง ผู้ชายกับผู้ชายสามารถจดทะเบียนสมรสกันได้ถูกต้องตามกฎหมายไทย

คุณสมบัติหรือเงื่อนไขการจดทะเบียนสมรสเท่าเทียมมีอะไรบ้าง

1.บุคคลทั้งสองจะต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์ กรณีผู้เยาว์ต้องนำบิดามารดาหรือผู้ปกครองมาให้ความยินยอมด้วย

2.กรณีอายุต่ำกว่า 18 ปี จะต้องได้รับอนุญาตจากศาล

3.ไม่เป็นบุคคลวิกลจริต หรือบุคคลที่ศาลสั่งเป็นคนไร้ความสามารถ

4.ไม่เป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน หรือร่วมแต่บิดาหรือมารดา ห้ามสมรสกับญาติสืบสายโลหิตโดยตรงขึ้นไปหรือลงมา ความเป็นญาตินี้คำนึงตามสายโลหิต ไม่คำนึงว่าจะเป็นญาติโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

5.ไม่เป็นคู่สมรสของบุคคลอื่น (ห้ามสมรสซ้อน)

6.ผู้รับบุตรบุญธรรมจะสมรสกับบุตรบุญธรรมไม่ได้ หากผู้รับบุตรบุญธรรมสมรสกับบุตรบุญธรรม การรับบุตรบุญธรรมย่อมเป็นอันยกเลิกไป

7.หญิงที่ชายผู้เป็นคู่สมรสตาย หรือการสมรสสิ้นสุดลงด้วยประการอื่น จะสมรสใหม่ได้ต่อเมื่อสิ้นสุดการสมรสไปแล้วไม่น้อยกว่า 310 วัน เว้นแต่

-คลอดบุตรแล้วในระหว่างนั้น

-ศาลมีคำสั่งให้สมรสได้

-สมรสกับคู่สมรสเดิม

-บุคคลที่มีอายุไม่ครบ 18 ปีบริบูรณ์ ศาลอาจอนุญาตให้สมรสได้

-มีใบรับรองแพทย์ว่าไม่ได้ตั้งครรภ์

จดทะเบียนสมรสเท่าเทียมต้องใช้เอกสารอะไรบ้าง

บัตรประจำตัวประชาชน (สำหรับคนไทย)

หนังสือสัญญาก่อนสมรส (ถ้ามี)

พยานบุคคลอายุ 20 ปีขึ้นไป จำนวน 2 คน

กรณีอายุยังไม่ครบ 20 ปี ต้องมีใบยินยอมจากผู้ปกครอง

สำหรับชาวต่างชาติ:

หนังสือเดินทาง (Passport)

หนังสือรับรองสถานะสมรส (Certified Marriage Certificate)

เอกสารต้องแปลเป็นภาษาไทยและรับรองจากกรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ

ผลทางกฎหมายเมื่อจดทะเบียนสมรสเท่าเทียม

ทรัพย์สินส่วนตัว-สินสมรส

การจัดการทรัพย์สินระหว่างคู่สมรส ยังคงหลักการตาม ป.พ.พ. เดิมไว้ โดยหลักการคือ ถ้าคู่สมรสไม่ได้ทำสัญญาเรื่องทรัพย์สินไว้ก่อนสมรส การจัดการทรัพย์สินจะใช้หลักการตามกฎหมาย โดนแบ่งแยกทรัพย์สินออกเป็นสองประเภท กล่าวคือ

1. “มาตรา 1471” หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 1471

ซึ่งบัญญัติไว้ว่า “ สินส่วนตัวได้แก่ทรัพย์สิน

              (1) ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีอยู่ก่อนสมรส

              (2) ที่เป็นเครื่องใช้สอยส่วนตัว เครื่องแต่งกาย หรือเครื่องประดับกายตามควรแก่ฐานะ หรือเครื่องมือเครื่องใช้ที่จำเป็นในการประกอบอาชีพหรือวิชาชีพของคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

              (3) ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาระหว่างสมรสโดยการรับมรดกหรือโดยการให้โดยเสน่หา

              (4) ที่เป็นของหมั้น “สินสมรส คือทรัพย์สินที่คู่สมรสได้มาระหว่างสมรส หรือทรัพย์สินที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาระหว่างสมรสโดยพินัยกรรมหรือโดยการให้เป็นหนังสือ ซึ่งระบุว่ายกให้เป็นสินสมรส และดอกผลของสินส่วนตัว

2. มาตรา 1474  หรือ “ป.พ.พ. มาตรา 1474 สินสมรสได้แก่ทรัพย์สิน

               (1) ที่คู่สมรสได้มาระหว่างสมรส

               (2)ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาระหว่างสมรสโดยพินัยกรรมหรือโดยการให้เป็นหนังสือเมื่อพินัยกรรมหรือหนังสือยกให้ระบุว่าเป็นสินสมรส

               (3) ที่เป็นดอกผลของสินส่วนตัว

               ถ้ากรณีเป็นที่สงสัยว่าทรัพย์สินอย่างหนึ่งเป็นสินสมรสหรือมิใช่ ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นสินสมรส

การจดทะเบียนรับบุตรบุญธรรมร่วมกันได้ คู่สมรสฝ่ายหนึ่งตาย อีกฝ่ายมีสิทธิได้รับมรดก

ป.พ.พ. เดิม กำหนดหลักการรับบุตรบุญธรรมว่า ฝั่งผู้รับบุตรบุญธรรม ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 25 ปี ถึงจะรับบุตรบุญธรรมได้ และต้องมีอายุแก่กว่าบุตรบุญธรรมอย่างน้อย 15 ปี (มาตรา 1598/19) หากผู้รับบุตรบุญธรรมหรือผู้ที่จะเป็นบุตรบุญธรรมมีคู่สมรสอยู่แล้ว ต้องได้รับความยินยอมจากจากคู่สมรสก่อน (มาตรา 1598/25) ในกรณีที่ฝั่งบุตรบุญธรรมเป็นผู้เยาว์ จะเป็นบุตรบุญธรรมของบุคคลอื่นอีกไม่ได้ เว้นแต่คู่สมรสของผู้รับบุตรบุญธรรม อีกนัยคือ คู่สมรสสามารถรับผู้เยาว์เป็นบุตรบุญธรรมร่วมกันได้ (มาตรา 1598/26 วรรคแรก) ซึ่งในป.พ.พ. แก้ไขใหม่ไม่ได้แก้ไขเปลี่ยนแปลงหลักการนี้ เท่ากับว่าคู่สมรสไม่ว่าเพศใด ก็สามารถรับบุตรบุญธรรมร่วมกันได้

สิทธิในการรับมรดก

 สถานะความเป็น “คู่สมรส” ยังส่งผลต่อเรื่องสิทธิในการรับมรดกของคู่สมรสอีกฝ่ายที่เสียชีวิตด้วย ป.พ.พ. กำหนดให้คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่ เป็นทายาทมีสิทธิรับมรดกของผู้ตาย กฎหมายสมรสเท่าเทียม ไม่ได้แก้ไขเรื่องนี้ เท่ากับว่าคู่สมรสไม่ว่าเพศใดก็มีสิทธิรับมรดกของผู้ตายได้ ยกเว้นแต่ผู้ตายจะทำพินัยกรรมเป็นอย่างอื่นไว้

หน้าที่การอุปการะเลี้ยงดูคู่สมรส – ค่าอุปการะเลี้ยงดูระหว่างคู่สมรส หรือระหว่างบิดามารดากับบุตรนั้นย่อมเรียกจากกันได้ในเมื่อฝ่ายที่ควรได้รับอุปการะเลี้ยงดู ไม่ได้รับการอุปการะเลี้ยงดูหรือได้รับการอุปการะเลี้ยงดูไม่เพียงพอแก่อัตภาพ (มาตรา 1598/38)

การเป็นผู้อนุบาลหรือผู้พิทักษ์ ในกรณีที่ศาลสั่งให้คู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ (มาตรา 1463)

ฟ้องหย่าได้หากคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเลี้ยงดูผู้อื่นฉันชู้ ฟ้องค่าทดแทนจากชู้ได้ไม่จำกัดเงื่อนไขเรื่องเพศ

การฟ้องหย่าต้องมีเหตุที่สามารถฟ้องหย่าได้ตามกฎหมาย ยกตัวอย่างเช่น สามีหรือภริยาอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องผู้อื่นฉันภริยาหรือสามี เป็นชู้หรือมีชู้ หรือร่วมประเวณีกับผู้อื่นเป็นอาจิณ ซึ่งหากศาลพิพากษาให้หย่ากันเพราะเหตุว่าอีกฝ่ายเลี้ยงดูผู้อื่นฉันสามีภริยา หรือมีชู้ ในป.พ.พ. มาตรา 1523 เดิม กำหนดให้ภริยาหรือสามี มีสิทธิได้รับค่าทดแทนจาก (1) สามีหรือภริยา (2) หญิงอื่นหรือชู้ นอกจากนี้ สามีจะเรียกค่าทดแทนจากผู้ซึ่งล่วงเกินภริยาไปในทำนองชู้สาวก็ได้ และภริยาจะเรียกค่าทดแทนจากหญิงอื่นที่แสดงตนโดยเปิดเผยเพื่อแสดงว่าตนมีความสัมพันธ์กับสามีในทำนองชู้สาวก็ได้

สิทธิตามกฎหมายอื่นๆ

นอกจากสิทธิ หน้าที่ และความสัมพันธ์ตามที่ ป.พ.พ. กำหนด เช่น สิทธิในการรับมรดก สถานะความเป็น “คู่สมรส” ยังเชื่อมโยงกับสิทธิหน้าที่รวมไปถึงประโยชน์อื่นๆ ที่คู่สมรสจะได้รับตามกฎหมาย เดิมในกฎหมายหลายฉบับกำหนดรับรองสิทธิ หน้าที่ หรือให้สิทธิประโยชน์แก่ผู้เป็น “สามี-ภริยา” เมื่อมีการแก้ไข ป.พ.พ. เปลี่ยนถ้อยคำจากสามี-ภริยา เป็น “คู่สมรส” ก็มีประเด็นว่าการรับรองสิทธิของคู่สมรสที่ไม่ใช่คู่ชาย-หญิงตามระบบกฎหมายเดิมจะเป็นอย่างไร

ใน ป.พ.พ. แก้ไขใหม่ ได้กำหนดแก้ไขปัญหาตรงนี้ไว้ด้วยการระบุว่า บรรดากฎหมายอื่นๆ ที่อ้างถึงสามี-ภริยา ให้ถือว่าอ้างถึงคู่สมรสตามกฎหมายสมรสเท่าเทียมนี้ด้วย แต่ก็มีข้อยกเว้นว่า ไม่รวมถึงกรณีที่กฎหมายเหล่านั้นกำหนดสิทธิ หน้าที่ สถานะทางกฎหมาย หรือเรื่องอื่นใดที่เกี่ยวข้องกับสามี-ภริยา ไว้แตกต่างกัน

ดังนั้น หากคู่สมรสใดที่ไปจดทะเบียนสมรสเมื่อป.พ.พ. แก้ไขใหม่ที่รับรองสมรสเท่าเทียมมีผลใช้บังคับแล้ว ก็จะมีสิทธิ หน้าที่ หรือได้รับสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายอื่นๆ ที่บัญญัติถึงสิทธิของ “คู่สมรส” หรือ “สามี-ภริยา” ไว้

อาทิ เช่น

1.สิทธิในการใช้นามสกุลของคู่สมรส : พระราชบัญญัติชื่อบุคคล พ.ศ. 2505 มาตรา 15 กำหนดให้คู่สมรสมีสิทธิใช้นามสกุลของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้ หรือจะใช้นามสกุลเดิมของตัวเองได้ นอกจากนี้ คู่สมรสอาจใช้นามสกุลของคู่สมรสอีกฝ่ายเป็นชื่อกลางได้ถ้าหากได้รับความยินยอม (มาตรา 6 วรรคท้าย)

2.สิทธิในการให้ความยินยอมรักษาพยาบาล : พระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 มาตรา 8 กำหนดหลักการให้ความยินยอมในการรักษาพยาบาล กรณีที่ผู้ป่วยไม่อยู่ในสภาวะที่จะรับทราบข้อมูลสุขภาพเพื่อตัดสินใจรักษาพยาบาล จะต้องแจ้งให้ทายาทโดยธรรมตาม ป.พ.พ. ก่อน ซึ่งคู่สมรสก็เป็นทายาทโดยธรรมตามกฎหมายด้วย (มาตรา 1629 วรรคสอง) นอกจากนี้ในพระราชบัญญัติสุขภาพจิต พ.ศ. 2551 มาตรา 21 วรรคสาม กำหนดว่ากรณีที่ผู้ป่วยขาดความสามารถในการตัดสินใจให้ความยินยอมบำบัดรักษา คู่สมรส บุพการี ผู้สืบสันดาน ฯลฯ สามารถให้ความยินยอมเป็นหนังสือแทนผู้ป่วยได้

3.สิทธิในการบรรจุเป็นข้าราชการกรณีคู่สมรสเสียชีวิตจากการรบหรือการปฏิบัติหน้าที่ : พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการทหาร พ.ศ. 2521 มาตรา 10/1 กำหนดให้บุตร หรือคู่สมรสที่ไม่ได้สมรสใหม่ หรือบิดามารดาของข้าราชการทหารที่เสียชีวิตเนื่องจากการรบหรือการปฏิบัติหน้าที่ อาจะได้รับสิทธิในการบรรจุหรือแต่งตั้งเป็นข้าราชการทหาร พนักงาน หรือลูกจ้างในหน่วยงานของกระทรวงกลาโหม

4.สิทธิประโยชน์ตามกฎหมายประกันสังคม : ค่าทดแทนกรณีผู้ประกันตนเสียชีวิต พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ .2533 มาตรา 73 กำหนดให้ต้องจ่ายเงินค่าทำศพ เงินสงเคราะห์ ให้แก่สามีภริยา บิดามารดา หรือบุตรของผู้ประกันตนประโยชน์ทดแทนกรณีตนเองหรือภริยาคลอดบุตร (มาตรา 65) เช่น ค่าตรวจและรับฝากครรภ์ ค่าบำบัดทางการแพทย์ ฯลฯ (มาตรา 66) เงินสงเคราะห์บุตรกรณีผู้ประกันตนเสียชีวิต มาตรา 75 จัตวา กำหนดให้จ่ายต่อสามีภริยาที่เป็นผู้ใช้อำนาจปกครองบุตร บำนาญชราภาพ กรณีผู้ประกันตนจ่ายเงินสมทบมาไม่น้อยกว่า 180 เดือน จะมีสิทธิได้รับบำนาญชราภาพหลังอายุครบ 55 ปี หรือหลังสถานะความเป็นผู้ประกันตนสิ้นสุด แต่ถ้าจ่ายไม่ครบ 180 เดือน จะได้รับเป็นบำเหน็จชราภาพแทน (มาตรา 77 ทวิ) กรณีที่ผู้ประกันตนตายภายใน 60 เดือนนับแต่เดือนที่มีสิทธิได้รับบำนาญชราภาพ บุตร สามี-ภริยา บิดามารดา จะมีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จชราภาพ

5. สิทธิประโยชน์ทางด้านภาษี

เงินที่ได้รับโดยเสน่หาจากคู่สมรส เฉพาะส่วนที่ไม่เกิน 20 ล้านบาทตลอดปีภาษี ไม่ต้องคำนวณรวมเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (มาตรา 42 (27) ประมวลรัษฎากร) ลดหย่อนภาษีคู่สมรส 60,000 บาท (มาตรา 47 (1)(ข) ประมวลรัษฎากร)

ยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีมรดกที่คู่สมรสได้รับจากเจ้ามรดก : พระราชบัญญัติภาษีการรับมรดก พ.ศ. 2558 มาตรา 3 (2) กำหนดให้กฎหมายนี้ไม่ใช้บังคับแก่กรณีมรดกที่คู่สมรสของเจ้ามรดกได้รับจากเจ้ามรดก เท่ากับว่าหากเป็นมรดกที่ได้รับมาจากคู่สมรสที่เสียชีวิตไป ก็ไม่ต้องเสียภาษีมรดก

error: Content is protected !!
ข้ามไปยังทูลบาร์