ฟ้องเรียกค่าเลี้ยงดูบุตรหรืออุปการะเลี้ยงดูบุตร

สามีหรือภรรยาไม่จ่ายค่าเลี้ยงดูบุตรหรือค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรต้องทำอย่างไร

การส่งเสียเลี้ยงดูบุตรเป็นหน้าที่ตามกฎหมายของบิดามารดา ที่จะต้องเลี้ยงดูบุตร ตามมาตรา 1564 กำหนดให้ บิดามารดาจำต้องอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาตามสมควรแก่บุตรในระหว่างที่เป็นผู้เยาว์ หรือหลังจากบรรลุนิติภาวะแล้วในกรณีที่บุตรเป็นผู้ทุพพลภาพและหาเลี้ยงตนเองมิได้

มาตรา 1565 การร้องขอค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรหรือขอให้บุตรได้รับการอุปการะเลี้ยงดูโดยประการอื่น นอกจากอัยการจะยกคดีขึ้นว่ากล่าวตามมาตรา 1562 แล้วบิดาหรือมารดาจะนำคดีขึ้นว่ากล่าวก็ได้

โดยปกติแล้ว บิดาและมารดาย่อมมีหน้าที่ให้การอุปการะเลี้ยงดูและให้การศึกษาแก่บุตรในระหว่างที่เป็นผู้เยาว์ (ตั้งแต่เด็กเริ่มคลอดจนกระทั่งเด็กบรรลุนิติภาวะ) ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1564

ดังนั้น บิดาหรือมารดาฝ่ายที่ดูแลบุตรอยู่ สามารถดำเนินการฟ้องร้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูเอาแก่บิดาหรือมารดาที่ไม่ยอมส่งเสียค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรได้ตามกฎหมาย

แต่ในกรณีที่บุตรทีไม่ชอบด้วยกฎหมายฟ้องบิดาเพื่อขอรับรองบุตรหรือฟ้องให้รับว่าเป็นบุตรพร้อมกับเรียกค่าเลี้ยงดูบุตรมาด้วยกฎหมายวางหลักไว้โดยเฉพาะว่าการรับรองบุตรให้บุตรสามารถฟ้องคดีบิดาเองได้โดยไม่เป็นคดีอุทลุมดังนั้นการเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรที่ทําพร้อมการฟ้องขอให้รับรองบุตรเป็นเรื่องเกี่ยวเนื่องกันจึงไม่เป็นคดีอุทลุมไปด้วย (ฎ.2268/2533) กรณีบุตรที่ชอบด้วยกฎหมายฟ้องบิดา-มารดาบุตรไม่มีสิทธิจะไปฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรจากบิดา-มารดาได้โดยตรงเนื่องจากกฎหมายห้ามมิให้บุตรฟ้องคดีเอาแก่บิดามารดาของตน ( คดีอุทลุม )

ฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร หรือค่าเลี้ยงดูบุตรที่ศาลไหน

ยื่นฟ้องต่อศาลเยาวชนและครอบครัวที่ จำเลย หรือ ผู้ร้องมีภูมิลำเนาอยู่ในเขตศาล หรือ ศาลที่มูลคดีเกิดขึ้นอยู่ในเขตศาล

เรียกค่าเลี้ยงดูบุตรได้เท่าไหร่

การเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรตามกฎหมาย ไม่ได้มีการระบุเฉพาะซึ่งขึ้นอยู่กับบิดาและมารดาตกลงกันในการชําระเงินมีค่าใช้จ่ายของบุตรที่จะแตกต่างกันไปตามวัยและระดับการศึกษาของบุตร เช่นชั้นอนุบาล ชั้นประถมศึกษา ชั้นมัธยมศึกษา รวมถึงค่าใช้จ่ายเสริมอื่นๆ เช่น ค่ารักษาพยาบาล ค่าประกัน ค่าเล่าเรียน ค่าเสริมทักษะทางวิชาการหรือค่าเรียนพิเศษ ค่ารถรับ-ส่ง เป็นต้น โดยบิดาและมารดาจะรับผิดชอบคนละครึ่งตามกฎหมาย

โดยสรุปแล้ว หลักเกณฑ์ในการพิจารณาเรื่องจํานวนเงินค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร ดังนี้

– ฐานะอาชีพรายได้และความสามารถของจําเลย

-สถานะอาชีพรายได้ของบิดาหรือมารดาฝ่ายที่เป็นผู้อุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์

– ความจําเป็นในการใช้ชีวิตประจําวันการศึกษาตามสมควรแก่ฐานานุรูป

          การเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรได้จนบุตรอายุกี่ปี โดยทั่วไปเรียกค่าเลี้ยงดูบุตรได้ถึงอายุ 20 ปี (บรรลุนิติภาวะ) เว้นแต่บุตรเป็นผู้ทุพพลภาพและหาเลี้ยงตนเองไม่ได้ตามมาตรา 1564

          เรียกค่าเลี้ยงดูบุตรย้อนหลังได้หรือไม่ เรียกได้กี่ปี การฟ้องเรียกค่าเลี้ยงดูบุตรสามารถฟ้องเรียกย้อนหลังได้ แต่หากจําเลยต่อสู้เรื่องอายุความศาลจะตัดสินให้ย้อนหลังได้เพียง 5 ปี ตามบทบัญญัติมาตรา 193/33 (4) เพราะการฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรผู้เยาว์ มีอายุความ 5 ปี นับแต่วันที่บิดามารดาหรือบิดามารดาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้ชําระค่าอุปการะเลี้ยงดูไป

ฟ้องเรียกค่าเลี้ยงดูบุตรเอกสารที่จะต้องเตรียมให้ทนายมีอะไรบ้าง

1.สําเนาสูติบัตรบุตรผู้เยาว์

2.สําเนาบัตรประจําตัวประชาชนของบุตร และของบิดามารดา

3.สำเนาทะเบียนบ้านของบุตร และบิดามารดา

4.ใบทะเบียนรับรองบุตร (ถ้ามี)

5.ภาพถ่ายความสัมพันธ์ระหว่างบิดามารดาและบุตร

6.ผลตรวจดีเอ็นเอจากโรงพยาบาล(ถ้ามี)

7.เอกสารหลักฐานรายรับรายจ่ายฐานะทางการเงินของบิดามารดา

เมื่อศาลมีคำพิพากษา หรือทำหนังสือสัญญาตกลงกันแล้ว หากจําเลยไม่ยอมจ่ายค่าเลี้ยงดูบุตรต้องทําอย่างไร

ฝ่ายโจทก์ย่อมสามารถดําเนินการยึด อายัดทรัพย์สินของจําเลยเพื่อชําระหนี้ตามคําพิพากษาได้ ตัวอย่างเช่น ยึดบ้าน ยึดรถ ยึดที่ดิน อายัดเงินเดือน อายัดเงินฝากในบัญชีธนาคาร อายัดหุ้น อายัดทรัพย์สินต่างๆ ในการบังคับคดีตามคําพิพากษาให้ชําระค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตรนั้น หากบิดามารดาเป็นข้าราชการหรือลูกจ้างของทางราชการโจทก์ก็สามารถยึดอายัดเงินเดือนหรือเงินอื่นๆ เช่นบํานาญ บําเหน็จ เบี้ยหวัดที่ทางราชการจ่ายให้แแก่บิดามารดาได้ซึ่งเป็นข้อยกเว้นหลักกฎหมายทั่วไปที่ห้ามเจ้าหนี้ตามคําพิพากษายึดหรืออายัดเงินเดือนของข้าราชการหรือลูกจ้างของราชการ ทั้งนี้เนื่องจากหนี้ค่าอุปการะเลี้ยงดูบุตร มีลักษณะเป็นหนี้ที่เกิดขึ้นจากหน้าที่ตามกฎหมายและเป็นหนี้ที่มีความสําคัญต่อตัวบุตรผู้เยาว์มาก (พ.ร.บ.จัดตั้งศาลเยาวชนฯมาตรา 154 มาตรา155 ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 286) นอกจากนี้หากฝ่ายจําเลยจงใจไม่ยอมจ่ายโดยไม่มีเหตุผลทั้งๆที่ตนเองมีความสามารถที่จะจ่ายได้จําเลยอาจจะถูกศาลเรียกมาตักเตือนให้ปฏิบัติตามคําพิพากษา และหากยังไม่ปฏิบัติตามคําพิพากษาอีกอาจถูกจับกุมกักขังได้ตามมาตรา 162 ของพ.ร.บ. จัดตั้งศาลเยาวชนฯ

error: Content is protected !!
ข้ามไปยังทูลบาร์