การหย่ากับคู่สมรสชาวต่างชาติ การดำเนินคดีฟ้องหย่าชาวต่างชาติ
กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการฟ้องหย่าชาวต่างชาติ
- ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ครอบครัว
- พระราชบัญญัติว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมาย พุทธศักราช 2481
มาตรา 27 ศาลไทยจะไม่พิพากษาให้หย่ากัน เว้นแต่กฎหมายสัญชาติแห่งสามีและภริยาทั้งสองฝ่ายยอมให้หย่าได้
เหตุหย่า ให้เป็นไปตามกฎหมายแห่งถิ่นที่ยื่นฟ้องหย่า
เหตุหย่าตามกฎหมายไทย มีดังนี้ คือ
- สามีหรือภริยาอุปการะเลี้ยงดูหรือยกย่องผู้อื่นฉันภริยาหรือสามี เป็นชู้หรือมีชู้ หรือร่วมประเวณีกับผู้อื่นเป็นอาจิณ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
- สามีหรือภริยาประพฤติชั่ว ไม่ว่าความประพฤติชั่วนั้นจะเป็นความผิดอาญาหรือไม่ ถ้าเป็นเหตุให้อีกฝ่ายหนึ่ง
(ก) ได้รับความอับอายขายหน้าอย่างร้ายแรง
(ข) ได้รับความดูถูกเกลียดชังเพราะเหตุที่คงเป็นสามีหรือภริยาของฝ่ายที่ประพฤติชั่วอยู่ต่อไป หรือ
(ค) ได้รับความเสียหายหรือเดือดร้อนเกินควร ในเมื่อเอาสภาพฐานะ และความเป็นอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยามาคำนึงประกอบอีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้ - สามีหรือภริยาทำร้าย หรือทรมานร่างกายหรือจิตใจ หรือหมิ่นประมาท หรือเหยียดหยามอีกฝ่ายหนึ่งหรือบุพการีของอีกฝ่ายหนึ่ง ทั้งนี้ ถ้าเป็นการร้ายแรง อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้
- สามีหรือภริยาจงใจละทิ้งร้างอีกฝ่ายหนึ่งไปเกิน 1 ปี อีกฝ่ายหนึ่ง นั้นฟ้องหย่าได้
(4/1) สามีหรือภริยาต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุก และได้ถูกจำคุกเกิน 1 ปีในความผิดที่อีกฝ่ายหนึ่งมิได้มีส่วนก่อให้เกิดการกระทำความผิด หรือยินยอมหรือรู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิดนั้นด้วย และการเป็นสามีภริยากันต่อไปจะเป็นเหตุให้อีกฝ่ายหนึ่งได้รับความเสียหายหรือเดือดร้อนเกิน ควร อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้
(4/2) สามีและภริยาสมัครใจแยกกันอยู่เพราะเหตุที่ไม่อาจอยู่ร่วมกัน ฉันสามีภริยาได้โดยปกติสุขตลอดมาเกิน 3 ปี หรือแยกกันอยู่ตามคำสั่งของศาลเป็นเวลาเกิน 3 ปี ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้ - สามีหรือภริยาถูกศาลสั่งให้เป็นคนสาบสูญ หรือไปจากภูมิลำเนา หรือถิ่นที่อยู่เป็นเวลาเกิน 3 ปี โดยไม่มีใครทราบแน่ว่าเป็นตายร้ายดีอย่างไร อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
- สามีหรือภริยาไม่ให้ความช่วยเหลืออุปการะเลี้ยงดูอีกฝ่ายหนึ่งตามสมควร หรือทำการเป็นปฏิปักษ์ต่อการที่เป็นสามีหรือภริยากันอย่างร้ายแรง ทั้งนี้ ถ้าการกระทำนั้นถึงขนาดที่อีกฝ่ายหนึ่งเดือดร้อนเกินควรในเมื่อเอาสภาพ ฐานะ และความเป็นอยู่ร่วมกันฉันสามีภริยามาคำนึงประกอบ อีกฝ่าย หนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้
- สามีหรือภริยาวิกลจริตตลอดมาเกิน 3 ปี และความวิกลจริตนั้นมี ลักษณะยากจะหายได้ กับทั้งความวิกลจริตถึงขนาดที่จะทนอยู่ร่วมกัน ฉันสามีภริยาต่อไปไม่ได้ อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
- สามีหรือภริยาผิดทัณฑ์บนที่ทำให้ไว้เป็นหนังสือในเรื่องความประพฤติอีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
- สามีหรือภริยาเป็นโรคติดต่ออย่างร้ายแรงอันอาจเป็นภัยแก่อีกฝ่ายหนึ่งและโรคมีลักษณะเรื้อรัง ไม่มีทางที่จะหายได้ อีกฝ่ายหนึ่งนั้นฟ้องหย่าได้
- สามีหรือภริยามีสภาพแห่งกายทำให้สามีหรือภริยานั้น ไม่อาจร่วมประเวณีได้ตลอดกาล อีกฝ่ายหนึ่งฟ้องหย่าได้
คู่สมรสจดทะเบียนสมรสตามกฎหมายประเทศไทยหรือจดทะเบียนสมรสตามกฎหมายต่างประเทศ ถือว่ามีการสมรสที่ชอบด้วยกฎหมายอยู่ในเงื่อนไขที่จะฟ้องหย่าได้
เมื่อคู่สมรสฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งยื่นฟ้องหย่าต่อศาลไทย เป็นหน้าที่ของฝ่ายยื่นฟ้องหย่าพิสูจน์ให้ได้ว่า ตามกฎหมายแห่งสัญชาติสามี เมื่อมีการจดทะเบียนสมรสแล้ว คู่สมรสสามารถฟ้องหย่าได้ หากคู่สมรสที่ยื่นฟ้องหย่าไม่สามารถพิสูจน์ได้ ศาลไทยต้องพิพากษายกฟ้อง ตามหลักกฎหมาย มาตรา 27 พระราชบัญญัติว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมายพุทธศักราช 2481
การนำสืบหลักกฎหมายต่างประเทศในการฟ้องหย่า ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการขัดกันของกฎหมาย พ.ศ.2481
การนำสืบกฎหมายของต่างประเทศกรณีนี้ เมื่อการยื่นฟ้องหย่าได้ทำที่ประเทศไทย เหตุหย่าก็ต้องเป็นไปตามกฎหมายไทย ส่วนเหตุการหย่าของกฎหมายต่างประเทศจะตรงกับเหตุการหย่าในการยื่นฟ้องคดีหรือไม่นั้น ก็ไม่เกี่ยวข้องกัน การนำสืบเหตุการหย่าจึงต้องนำสืบเหตุการหย่าเฉพาะตามกฎหมายไทยเท่านั้น ส่วนการนำสืบกฎหมายต่างประเทศ ทนายความโจทก์มีหน้าที่นำสืบเพียงว่า ตามกฎหมายต่างประเทศนั้นสามีภริยาสามารถฟ้องหย่ากันได้มิใช่ว่าการหย่าจะต้องทำโดยความยินยอมของสามีภริยาเท่านั้น เนื่องจากตามกฎหมายบางประเทศ การหย่านั้นจะต้องทำโดยความยินยอมของคู่สมรสเท่านั้น ศาลไม่สามารถพิพากษาให้หย่าขาดกันได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6625/2549
ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการขัดกันแห่งกฎหมายฯ มาตรา 27 วรรคหนึ่ง ศาลจะไม่พิพากษาให้หย่ากัน เว้นแต่กฎหมายสัญชาติแห่งสามีและภริยาทั้งสองฝ่ายยอมให้หย่าได้ ซึ่งหมายความว่ากฎหมายของประเทศตามสัญชาติคู่สมรสทั้งสองฝ่ายต่างต้องมีบท บัญญัติกำหนดเงื่อนไขหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการหย่าหรือเหตุหย่าไว้ ศาลไทยจึงจะมีอำนาจพิจารณาพิพากษาให้หย่าขาดจากกันได้ มิใช่ต้องเป็นการหย่าโดยความยินยอมของคู่สมรสเท่านั้น เมื่อโจทก์เป็นคนสัญชาติอเมริกัน ตามกฎหมายของรัฐจอร์เจีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้กำหนดเงื่อนไขการหย่าไว้และบทบัญญัติของกฎหมายของประเทศไทยก็ระบุ เงื่อนไขการฟ้องหย่า โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องหย่าได้