แต่งตั้งผู้จัดการมรดกต้องทำอย่างไร ? ใครมีสิทธิได้รับมรดก ?

การจัดตั้งผู้จัดการมรดก หรือการจัดการมรดกของผู้ตาย

ผู้มีสิทธิยื่นคำร้องขอตั้งผู้จัดการมรดก ให้ศาลมีคำสั่งตั้งเป็นผู้จัดการมรดก

  1. ทายาท (ทายาทโดยธรรมหรือผู้รับพินัยกรรม)
  2. ผู้มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดก เช่น สามีหรือภริยาที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส เป็นต้น
  3. พนักงานอัยการ

ทายาทที่มีสิทธิรับมรดก

ทายาท มี 2 ประเภท คือ

  1. ผู้รับพินัยกรรม คือ ทายาทที่มีสิทธิรับมรดกตามที่ผู้ตายกำหนดไว้ในพินัยกรรม
  2. ทายาทโดยธรรม คือ ทายาทที่มีสิทธิรับมรดกตามกฎหมาย มี 6 ลำดับ แต่ละลำดับมีสิทธิรับมรดกก่อนหลัง ดังต่อไปนี้
    (1) ผู้สืบสันดาน (รวมทั้งบุตรที่บิดาได้รับรองโดยพฤติการณ์)
    (2) บิดามารดา
    (3) พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน
    (4) พี่น้องร่วมบิดาหรือมารดาเดียวกัน
    (5) ปู่ ย่า ตา ยาย
    (6) ลุง ป้า น้า อา

คู่สมรสที่ยังมีชีวิตอยู่ ก็เป็นทายาทโดยธรรมของผู้ตายด้วย สำหรับสามีภริยา ต้องจดทะเบียนสมรสเท่านั้น

คุณสมบัติของผู้จัดการมรดก

  1. เป็นผู้บรรลุนิติภาวะ อายุ 20 ปีบริบูรณ์
  2. ไม่เป็นบุคคลวิกลจริต
  3. ไม่เป็นบุคคลไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ
  4. ไม่เป็นบุคคลล้มละลาย

ผู้จัดการมรดกมีหน้าที่ในการรวบรวมทรัพย์มรดกเพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทโดยธรรมหรือผู้รับพินัยกรรม ดำเนินการเกี่ยวกับทางบัญชี จัดทำบัญชีทรัพย์มรดกและทำรายการแสดงบัญชีการจัดแบ่งมรดก ตลอดจนชำระหนี้ของเจ้ามรดกแก่เจ้าหนี้ ซึ่งหน้าที่ทั้งหลายนี้ผู้จัดการมรดกต้องกระทำไปให้สมกับเจตนารมณ์ของเจ้ามรดก โดยต้องจัดการไปในทางที่เป็นประโยชน์แก่มรดก จะทำนิติกรรมใดๆที่เป็นปรปักษ์ต่อกองมรดกไม่ได้ หากละเลยหรือกระทำไปโดยไม่สุจริตอาจถูกถอดถอนจากการเป็นผู้จัดการมรดกได้ เช่น ปิดบังมรดกต่อทายาท หรือเพิกเฉยไม่แบ่งมรดก ทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกหรือผู้มีส่วนได้เสียจะร้องขอให้ศาลมีคำสั่งถอนผู้จัดการมรดกก็ได้

ความสิ้นสุดของการเป็นผู้จัดการมรดก

  1. ตาย
  2. ลาออก ซึ่งต้องได้รับอนุญาตจากศาล แต่หากมีความเสียหายเกิดขึ้นในระหว่างทำหน้าที่ ก็ต้องรับผิดชอบ
  3. ศาลมีคำสั่งถอน
  4. ตกเป็นบุคคลผู้มีคุณสมบัติต้องห้าม เช่น บุคคลล้มละลาย บุคคลวิกลจริต หรือเสมือนไร้ความสามารถ เป็นต้น
  5. การจัดการมรดกสิ้นสุดลง และเป็นการเริ่มนับอายุความจัดการมรดก 5 ปี กรณีทายาทได้รับความเสียหาย

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่เกี่ยวข้อง

มาตรา 1711 ผู้จัดการมรดกนั้นรวมตลอดทั้งบุคคลที่ตั้งขึ้นโดยพินัยกรรม หรือโดยคำสั่งศาล

มาตรา 1712 ผู้จัดการมรดกโดยพินัยกรรมอาจตั้งขึ้นได้

(1) โดยผู้ทำพินัยกรรมเอง

(2) โดยบุคคลซึ่งระบุไว้ในพินัยกรรม ให้เป็นผู้ตั้ง

มาตรา 1713 ทายาทหรือผู้มีส่วนได้เสียหรือพนักงานอัยการจะร้องขอต่อศาล ขอให้ตั้งผู้จัดการมรดกก็ได้ ในกรณีดั่งต่อไปนี้

(2) เมื่อผู้จัดการมรดกหรือทายาทไม่สามารถ หรือไม่เต็มใจที่จะจัดการหรือมีเหตุขัดข้องในการจัดการ หรือในการแบ่งปันมรดก

มาตรา 1715 ผู้ทำพินัยกรรมจะตั้งบุคคลคนเดียวหรือหลายคนให้เป็นผู้จัดการมรดกก็ได้

เว้นแต่จะมีข้อกำหนดไว้ในพินัยกรรมเป็นอย่างอื่น ถ้ามีผู้จัดการมรดกหลายคน แต่ผู้จัดการเหล่านั้นบางคนไม่สามารถ หรือไม่เต็มใจที่จะจัดการ และยังมีผู้จัดการมรดกเหลืออยู่แต่คนเดียว ผู้นั้นมีสิทธิที่จะจัดการมรดกได้โดยลำพัง แต่ถ้ามีผู้จัดการมรดกเหลืออยู่หลายคน ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า ผู้จัดการเหล่านั้นแต่ละคนจะจัดการโดยลำพังไม่ได้

มาตรา 1716 หน้าที่ผู้จัดการมรดกที่ศาลตั้ง ให้เริ่มนับแต่วันที่ได้ฟังหรือถือว่าได้ฟังคำสั่งศาลแล้ว

มาตรา 1718 บุคคลต่อไปนี้จะเป็นผู้จัดการมรดกไม่ได้

(1) ผู้ซึ่งยังไม่บรรลุนิติภาวะ

(2) บุคคลวิกลจริต หรือ บุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นผู้เสมือนไร้ความสามารถ

(3) บุคคลซึ่งศาลสั่งให้เป็นคนล้มละลาย

มาตรา 1726 ถ้าผู้จัดการมรดกมีหลายคน การทำการตามหน้าที่ของผู้จัดการมรดกนั้นต้องถือเอาเสียงข้างมาก เว้นแต่จะมีข้อกำหนดพินัยกรรมเป็นอย่างอื่น ถ้าเสียงเท่ากัน เมื่อผู้มีส่วนได้เสียร้องขอ ก็ให้ศาลเป็นผู้ชี้ขาด

มาตรา 1731 ถ้าผู้จัดการมรดกมิได้จัดทำบัญชีภายในเวลาและตามแบบที่กำหนดไว้ หรือถ้าบัญชีนั้นไม่เป็นที่พอใจแก่ศาล เพราะความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง หรือการทุจริต หรือความไม่สามารถอันเห็นประจักษ์ของผู้จัดการมรดก ศาลจะถอนผู้จัดการมรดกเสียก็ได้

มาตรา 1733 วรรค 2 คดีเกี่ยวกับการจัดการมรดกนั้น มิให้ทายาทฟ้องเกินกว่า 5 ปีนับแต่การจัดการมรดกสิ้นสุดลง

ประมวลกฎหมายอาญา ที่เกี่ยวข้อง

กรณีผู้จัดการมรดก ยักยอกทรัพย์มรดก

มาตรา 354 ถ้าการกระทำความผิดตาม มาตรา 352 หรือ มาตรา 353 ได้กระทำในฐานที่ผู้กระทำความผิดเป็นผู้จัดการทรัพย์สินของผู้อื่น ตามคำสั่งของศาล หรือตามพินัยกรรม หรือในฐานเป็นผู้มีอาชีพ หรือธุรกิจ อันย่อมเป็นที่ไว้วางใจของประชาชน ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 356 ความผิดในหมวดนี้เป็นความผิดอันยอมความได้

error: Content is protected !!
ข้ามไปยังทูลบาร์