เมื่อถูกหมิ่นประมาท ต้องทำอย่างไร

เมื่อถูกหมิ่นประมาท ต้องทำอย่างไร ?

การหมิ่นประมาท คือ การถูกบุคคลหนึ่งบุคคลใดหรือหลายคนใส่ความคือกล่าวข้อความที่ไม่เป็นจริง ให้บุคคลที่ 3 รับทราบ ซึ่งข้อความที่ใส่ความนั้น เป็นข้อความที่ทำให้เสียชื่อเสียงทำให้คนที่รับฟังรู้สึกรังเกียจรู้สึกดูหมิ่น หรือทำให้ผู้รับฟัง รู้สึกไม่ดีกับตัวของผู้ถูกใส่ความเช่นนี้เป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทตามกฎหมายแล้ว

การหมิ่นประมาทมีทั้งที่ผู้กระทำความผิดพูดใส่ความให้บุคคลที่ 3 ฟัง อาจพูดต่อหน้าหรือผ่านข้อความแชทไลน์ การแชทใน Messenger หรือแม้แต่ทางโทรศัพท์มือถือ รวมทั้งการหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาด้วยวิธีต่างๆ เช่นการป่าวประกาศทางหนังสือพิมพ์ การลงข้อความผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์ เช่น Facebook Line หรือใน Timeline ของโปรแกรม Facebook Line การวาดภาพ การแจกใบปลิว เป็นต้น

การเก็บหลักฐานเพื่อดำเนินการฟ้อง หากเป็นการหมิ่นประมาทโดยการใส่ความให้บุคคลที่ 3 ฟังหากประสงค์จะดำเนินคดี จะต้องให้บุคคลที่ 3 มาเป็นพยานด้วย เช่น นำบุคคลที่ 3 ไปพบพนักงานสอบสวน ร่วมกับผู้ที่ได้รับความเสียหาย เพื่อลงบันทึกประจำวัน เรื่องที่ถูกหมิ่นประมาทและรู้ตัวผู้กระทำความผิดเนื่องจากความผิดฐานหมิ่นประมาทเป็นความผิดอันยอมความได้ต้องดำเนินการแจ้งความ ภายใน 3 เดือนนับแต่รู้เรื่องที่ถูกหมิ่นประมาทและรู้ตัวผู้กระทำความผิด หรือแต่งตั้งทนายความให้ฟ้องคดีผู้กระทำผิดต่อศาลภายใน 3 เดือน นับแต่รู้เรื่องที่ถูกหมิ่นประมาทและรู้ตัวผู้กระทำความผิด ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 96 มิฉะนั้นถือว่าขาดอายุความทางอาญา แต่ยังสามารถฟ้องเรียกร้องค่าเสียหายทางแพ่งได้ ทั้งนี้ การฟ้องเรียกค่าเสียหายทางแพ่งเรื่องที่ถูกหมิ่นประมาทนั้นต้องเป็นเรื่องที่ไม่จริงเท่านั้น เพราะการถูกหมิ่นประมาททางแพ่งนั้น ต้องเป็นเรื่องที่ไม่จริงเท่านั้น ตามประมวลกฎหมายแพ่งมาตรา 423 ส่วนการฟ้องคดีอาญาแม้เรื่องที่ถูกหมิ่นประมาทนั้นเป็นเรื่องจริง ก็ผิดต่อกฎหมาย

หากความผิด หมิ่นประมาทนั้น เกิดขึ้นโดยการโฆษณา ต้องทำการเก็บหลักฐาน เพื่อนำไปใช้เป็นพยานหลักฐานในชั้นศาล เช่น มีการลงข้อความหมิ่นประมาทใน Facebook ควรแคปเจอร์ ( Capture ) หน้าจอเพื่อให้เห็นข้อความที่หมิ่นประมาทให้เห็นชื่อผู้กระทำความผิด ควรแคปเจอร์ ( Capture ) ให้เห็นข้อความที่มีคน Comment คนกดไลค์ กดแชร์ หรือกดแท็ก เพื่อให้เห็นว่าการกระทำนั้นก่อให้เกิดความเสียหายในวงกว้าง รวมทั้งควรทราบว่าข้อความหมิ่นประมาทนั้นเป็นการโฆษณาโดยสาธารณะหรือเฉพาะกลุ่มด้วย และยังมีวิธีการเก็บหลักฐานที่ละเอียดมากกว่านี้ โดยให้ปรึกษาทนายความที่ท่านไว้ใจ  เนื่องจากการเก็บพยานหลักฐานในสื่อสังคมออนไลน์ มีความละเอียด จึงควรให้ทนายความที่มีความ เชี่ยวชาญ แนะนำวิธีการเก็บพยานหลักฐาน

การถูกหมิ่นประมาทนั้นสามารถเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนได้ หากคดีดังกล่าวให้พนักงานอัยการดำเนินการฟ้องให้ ผู้เสียหายสามารถยื่นคำร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการ และยื่นคำร้องขอรับชำระค่าสินไหมทดแทน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 44/1 แต่หากผู้เสียหายมีความประสงค์ดำเนินการฟ้องเอง สามารถแต่งตั้งทนายความฟ้องคดีให้ซึ่งจะทำให้การดำเนินการฟ้องคดีรวดเร็วกว่า สามารถให้ทนายความฟ้องคดีแพ่ง และคดีอาญาแยกกันได้ หรือประสงค์จะฟ้องคดีอาญาและเรียกร้องค่าเสียหายทางแพ่งเข้าไปในคดีอาญาก็ได้ เรียกว่าคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องคดีอาญา

ในคดีอาญาข้อหาหมิ่นประมาทนั้น มีทั้งอัตราโทษจำคุก และหรือ ปรับ ส่วนความเสียหายในทางแพ่งสามารถเรียกร้องให้ชำระเป็นตัวเงินได้ นอกจากนี้ ทั้งในคดีแพ่งและคดีอาญา สามารถเรียกร้องให้จำเลย ดำเนินการประกาศโฆษณาขอโทษ จากการกระทำความผิดของจำเลย ได้

ค่าสินไหมทดแทน ในคดีหมิ่นประมาทนั้น ศาลจะพิจารณาจาก การสูญเสียชื่อเสียง การขาดทางทำมาหาได้ อันเกิดจากการหมิ่นประมาทนั้นในแต่ละบุคคลศาลจะสั่งค่าเสียหายให้ไม่เท่ากันขึ้นอยู่กับ องค์ประกอบหลายๆอย่าง เช่น อายุ อาชีพ ตำแหน่งหน้าที่การงาน สังคมที่รับรู้เรื่องการหมิ่นประมาทนั้น เป็นบุคคลมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักแก่บุคคลทั่วไป เป็นต้น

ในการฟ้องเรียกร้องค่าสินไหมทดแทน เป็นคดีต่อศาลต้องชำระค่าธรรมเนียมต่อศาลด้วย ไม่ว่าจะฟ้องเป็นคดีแพ่งหรือฟ้องเป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องคดีอาญาชำระอัตราค่าธรรมเนียมศาล ดังนี้

  1. ฟ้องเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเป็นจำนวนเงิน ไม่เกิน 300,000 บาทชำระค่าขึ้นศาล 1,000 บาท
  2. ฟ้องเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนเป็นจำนวนเงิน ตั้งแต่ 300,000 บาท ขึ้นไป แต่ไม่เกิน 50 ล้านชำระค่าขึ้นศาล ในอัตราร้อยละ 2 ไม่เกิน 200,000 บาท
    ในส่วนค่าธรรมเนียมศาลนั้น หากจำเลยแพ้ศาลจะสั่งให้จำเลยเป็นผู้ชำระแทนโจทก์ ตามจำนวนที่ชนะคดี คือตามจำนวนที่ศาลสั่งให้จำเลยชำระค่าสินไหมทดแทน ให้แก่โจทก์
  3. ทั้งนี้ในการฟ้องคดีในส่วนแพ่ง โจทก์ สามารถเรียกร้อง ให้จำเลย ชำระค่าดำเนินการ ในการฟ้องให้แก่โจทก์ ในอัตรา ร้อยละ 1 จากทุนทรัพย์ที่โจทก์ยื่นฟ้อง ทั้งนี้เป็นไปตาม อัตราค่าใช้จ่าย ท้ายประมวลวิธีพิจารณาความแพ่งตารางที่ 7

การแจ้งความดำเนินคดีในคดีหมิ่นประมาทนั้น ต้องแจ้งความลงบันทึกประจำวัน ณ สถานีตำรวจ ที่ผู้เสียหายทราบการกระทำความผิด และใบบันทึกประจำวันนั้นต้องเป็นบันทึกประจำวันเกี่ยวกับคดี หากเป็นบันทึกประจำวันเพื่อเป็นหลักฐานจะไม่สามารถใช้ฟ้องร้องดำเนินคดีได้ หรือผู้เสียหายมีความประสงค์ไม่แจ้งความกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ ประสงค์จะดำเนินการฟ้องคดีเอง โดยสามารถแต่งตั้งทนายความให้ดำเนินการฟ้องคดีต่อผู้กระทำผิดต่อศาลได้เลย

อายุความ

เมื่อแจ้งความดำเนินคดีแล้ว สามารถดำเนินการฟ้องผู้กระทำความผิดได้ภายใน 10 ปี นับแต่วันที่ทราบการกระทำความผิด

error: Content is protected !!
ข้ามไปยังทูลบาร์